การสำรวจแอนตาร์ติกา ของ เลโอนิด โรโกซอฟ

โรโกซอฟปฏิบัติหน้าที่ในทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2503 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 ในระหว่างนั้น มีการตั้งสถานีวิจัยโนโวลาซาเรฟสกายาขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2504 โรโกซอฟซึ่งเป็นแพทย์ผู้เดียวในคณะจึงต้องเป็นแพทย์ประจำสถานีวิจัยนี้เพียงลำพัง

เช้าวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2504 โรโกซอฟรู้สึกอ่อนเพลียตามธรรมดา คลื่นไส้ และมีไข้อ่อน สักพักจึงรู้สึกปวดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านขวา แม้ใช้วิธีบำบัดรักษาแบบอนุรักษ์ทุกประการแล้วก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2504 จึงปรากฏอาการแสดงภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบอย่างแจ้งชัด เย็นลงวันนั้น สภาวะร่างกายของเขาก็ย่ำแย่ลงถนัดตา เมื่อพิเคราะห์ว่า สถานีวิจัยเมอร์นีซึ่งเป็นสถานีวิจัยของสหภาพโซเวียตที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลเมตร ทั้งสถานีวิจัยของชาติอื่นก็ไม่มีอากาศยานจะรับส่งเขา และแม้จะมีก็คงไม่อาจลงจอดท่ามกลางพายุหิมะหนักเช่นนี้ได้ โรโกซอฟจึงตัดสินใจผ่าตัดรักษาตนเอง

การผ่าตัดเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 22:00 นาฬิกาของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2504 ในการผ่าตัด โรโกซอฟนอนเอนหลัง เอี้ยวกายมาด้านซ้าย แล้วให้พลขับคนหนึ่งกับนักอุตุนิยมวิทยาอีกคนหนึ่งคอยช่วยจัดส่งอุปกรณ์และถือกระจกส่องบริเวณที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรง เขาฉีดน้ำยาโนโวเคน 0.5% เข้าที่ผนังท้องเพื่อทำให้ชา แล้วกรีดท้องเป็นรอยยาวราวสิบถึงสิบสองเซนติเมตร ก่อนจะดึงไส้ติ่งออกมา หลังเริ่มผ่าตัดได้ราวสามสิบถึงสี่สิบนาที โรโกซอฟก็ให้รู้สึกอ่อนเพลียและคลื่นไส้ด้วย การผ่าตัดจึงต้องทำ ๆ หยุด ๆ เขาบันทึกรายงานว่า ตรวจพบว่า ที่ฐานไส้ติ่งของตนเองมีรูขนาดสองคูณสองเซนติเมตร เขาจึงฉีดยาปฏิชีวนะเข้ารูนั้นโดยตรง การผ่าตัดดำเนินไปด้วยดีและลุล่วงในเวลาเกือบเที่ยงคืน

เขามีอาการอ่อนเพลียหลังผ่าตัดอยู่ครู่หนึ่ง เมื่ออาการนั้นหายแล้ว ความเจ็บปวดในช่องท้องก็หายตามไป อุณหภูมิร่างกายของเขาฟื้นคืนเป็นปรกติภายในห้าวัน เขาตัดไหมเย็บแผลออกในวันที่เจ็ด สองสัปดาห์ให้หลังก็สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม[1]

ความหาญกล้าของเขาในครั้งนี้ยังผลให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน (Order of the Red Banner of Labour) ใน พ.ศ. 2504 นั้นเองด้วย